หน้าเว็บ

การบริหารเวลา หนึ่งในการลงทุนที่สำคัญสุด

  ถ้าพูดถึงการลงทุนแน่นอนว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ หรือนึกถึงย่อมหมายถึงการนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่า จับต้องได้เป็นรูปธรรม เช่น หุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพื่อคาดหวังการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่จริงแล้วการลงทุนที่ดีไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น หรืออธิบายได้ว่าการลงทุนไม่มีขอบเขตว่าต้นทุนจะต้องเป็นต้ัวเงิน และมีผลตอบแทนเป็นกำไร หรือเงินปันผล 
ดังคำกล่าวของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังที่ว่า "Invest in yourself" ซึ่งเขามักใช้ตอบกับคนอื่นเสมอเวลาที่ถูกถามว่าควรลงทุนในอะไร โดยความหมายก็คือจงลงทุนในตัวเอง เพราะตัวเราเองนั่นแหละคือสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด
และนอกจากตัวเราเองแล้ว (ตามคำกล่าวของบัฟเฟตต์อาจตีความได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเอง ทำให้ตัวเองมีความรู้มากขึ้น หรือลงทุนดูแลสุขภาพตัวเอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเอง) อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม แต่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกันก็คือการลงทุนบริหารเวลา หรือเลือกใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าที่สุด เพราะความจริงแล้วหนึ่งในต้นทุนที่มีค่ามากที่สุดก็คือ เวลา โดยเทคนิคการบริหารเวลาที่สำคัญ และสามารถนำไปใช้ได้จริงเป็นดังนี้

- ต้องแยกแยะระหว่างสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และสิ่งที่ไม่จำเป็น ในแต่ละวันคนเราใช้เวลา 24 ชั่วโมงหมดไปกับกิจกรรมมากมาย ทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การเรียน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว แต่หากแบ่งแยกประเภทของกิจกรรมออกก็ย่อมแบ่งได้เพียงสองประเภทหลักๆ คือกิจกรรมที่เราจำเป็นต้องทำ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่หากเราไม่ทำจะส่งผลเสียต่อชีวิตเรา และกิจกรรมที่เราไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ไม่ว่าเราจะทำ หรือไม่ทำก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อชีวิตเรา ดังนั้นเราจึงเราควรแบ่งกลุ่มกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันออกมาว่ามีสิ่งใดบ้างที่เราจำเป็นต้องทำ และสิ่งใดที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังในการแยกแยะกิจกรรมที่จำเป็น และไม่จำเป็นนั้นก็คือต้องแบ่งแยกโดยใช้ผลกระทบต่อภาพรวมของชีวิตเรา ไม่ใช่เพียงแง่มุมใดของชีวิตเท่านั้น เช่น บางคนอาจมองว่าสิ่งที่จำเป็นมีเพียงเรื่องงาน และเรื่องเรียน นอกเหนือจากนี้ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะในภาพรวมของชีวิตเราย่อมมีเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากการทำงาน และเรียนด้วย เช่น เรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์เป็นต้น
จากนั้นเมื่อเราสามารถมองออกได้แล้วว่าสิ่งที่เราทำแต่ละวันมีสิ่งไหนที่จำเป็น และสิ่งไหนไม่จำเป็น เราก็ใช้สิ่งนี้มาช่วยในการควบคุมการใช้เวลาในแต่ละวัน กล่าวคือหากช่วงไหนเราเริ่มรู้สึกว่าชีวิตเราเริ่มยุ่ง หรือต้องเร่งรีบเกินไป เราก็เลือกตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ซึ่งมันจะช่วยทำให้เรามีเวลาทำกิจกรรมที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลกระทบในด้านดีต่อชีวิต หรืออนาคตเราก็ย่อมตามมาด้วย แต่การตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกนั้นไม่จำเป็นว่าเราจะต้องตัดออกเป็นการถาวร เพราะหากเป็นสิ่งที่ทำแล้วทำให้เรามีความสุข หรือเป็นความชอบ ความหลงใหลส่วนตัวที่ทำให้เรารู้สึกได้รับการเติมเต็มก็ถือว่ามีคุณค่าพอให้เราใช้เวลาทำเช่นกัน เราจึงอาจใช้วิธีลดเวลาที่ทำ หรือลดจำนวนวันที่ทำลงแทน

- การบริหารเวลาที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น แม้ว่าการวินัยจะเป็นหัวใจของความสำเร็จ และมีคำสอนมากมายที่เน้นย้ำเรื่องความมีวินัย แต่การที่เราจะใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์สูงสุดไม่จำเป็นว่าเราจะต้องทำทุกอย่างให้เป๊ะตามตาราเวลา หรือตาม Pattern ของคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น เราต้องใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกงาน หรือเลิกเรียนไปกับการออกกำลังกาย ซึ่งกรณีนี้หากเป็นคนที่มีเวลามากพอในช่วงเย็นก็ย่อมเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่สำหรับคนที่อาจจะเลิกงานช้า หรือเลิกเรียนช้ากว่าเวลาเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งอาจหมดเวลาไปกับการเดินทางเยอะก็จะทำให้มีเวลาช่วงค่ำไปจนถึงก่อนเข้านอนน้อยกว่า ดังนั้นการออกกำลังกายก็อาจไม่ใช่กิจกรรมที่ดี และทำให้เราใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเสมอไป ตรงกันข้ามอาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้ามากเกินไปก็ได้ เราจึงอาจใช้วิธีเปลี่ยนไปออกกำลังในช่วงวันหยุดแทน และนอกจากเรื่องความเหมาะสมของเวลาแล้ว ความยืดหยุ่นยังเป็นประโยชน์ในแง่ของจิตวิทยาอีกด้วย เพราะการที่คนเราจะตั้งใจทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งหนึ่งที่จะตามมาแน่นอนก็คือความรู้สึกเบื่อ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความท้อ และล้มเลิกไปได้ ในการบริหารเวลาก็เช่นกัน หากเรามุ่งหวังเพียงจะใช้เวลาให้ได้คุ้มค่าที่สุด และเลือกทำแต่สิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดซ้ำๆ ก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และล้มเลิก กลับไปเป็นคนที่ใช้เวลาไม่เป็น แต่ละวันผ่านไปอย่างยุ่งเยิงแบบเดิม ดังนั้นเราจึงควรมีความยืดหยุ่นในการใช้เวลาทำสิ่งต่างๆ และหากเริ่มรู้สึกว่าสิ่งไหนที่เราทำแล้วทำให้เกิดความรู้สึกจำเจเราก็ควรเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตเราในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรือเลือกปรับเปลี่ยนช่วงเวลา ตัวอย่างเช่น หากการอ่านหนังสือตอนเช้าหลังตื่นนอนทำให้เรารู้สึกเบื่อ ก็อาจเปลี่ยนไปอ่านตอนก่อนเข้านอนแทน

- ต้องรู้จักปฏิเสธ การปฏิเสธ หรือพูดคำว่า "ไม่" เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้เราสามารถใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธทุกคำชวนของเพื่อน คนใกล้ตัว หรือคนรู้จักจนถึงขนาดตัดความสัมพันธ์ แต่ควรกล้าปฏิเสธในช่วงเวลาที่เหมาะสม การปฏิเสธคำชวนจะทำให้เราเหลือเวลามากพอไปทำสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตเรา ส่งผลดีต่ออนาคตเรา หรือแม้กระทั่งทำในสิ่งที่เราชื่นชอบ และสร้างความสุขจริงๆให้เราได้ เช่น หากเราเห็นว่าการไปเดินช้อปปิ้งกับเพื่อนไม่ส่งผลดีต่อเราเท่ากับการไปออกกำลัง ซึ่งจะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี และการมีสุขภาพดีก็ย่อมทำให้เรามีความสุข เราก็ต้องเลือกปฏิเสธคำชวนของเพื่อนบ้าง หรือหากเราเห็นว่าการไปทานบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เสียทั้งเวลาเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการทานอาหารมากขึ้น แต่การกลับไปทานอาหารกับครอบครัวที่บ้านจะทำให้เรากลับถึงบ้านเร็ว และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวก็ดีตามด้วย เราก็ควรปฏิเสธคำชวนของเพื่อนร่วมงานบ้าง
นอกจากการปฏิเสธคำชวนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งการปฏิเสธที่สำคัญ ก็คือการปฏิเสธคำขอให้ทำสิ่งต่างๆจากคนรอบตัว นอกจากเราจะต้องเจอกับคำชวนให้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ และก็ทำให้หลายคนใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปแบบไม่รู้ตัวแล้ว บางคนยังต้องทำสิ่งต่างๆตามคำขอ หรือคำขอร้องจากคนอื่นๆอีกจนรู้สึกคุ้นชินว่าตนเองเป็นที่พึ่งของคนรอบตัว เหมือนกับที่เรามักได้ยินหลายคนบ่นเกี่ยวกับภาระ หน้าที่ของตนเองในทำนองว่า ต้องเป็นคนรับผิดชอบทุกสิ่งอย่าง ทั้งเรื่องภายในบ้าน เรื่องเรีียนของลูก และยังต้องช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวในเรื่องต่างๆอีก แม้ว่าการช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นเรื่องดี แต่หากเราไม่รู้จักปฏิเสธคำขอเลยก็เท่ากับว่าเราไม่เคารพการใช้เวลา และละเลยกิจกรรมต่างๆที่สำคัญต่อชีวิตเราเช่นกัน เพราะการใช้เวลาทำตามคำขอของคนอื่นย่อมเป็นการเบียดเบียนเวลาของเราไปพร้อมๆกันด้วย เราจึงควรปฏิเสธคำขอของคนอื่นบ้างตามความเหมาะสม เช่น หากเห็นว่าเจ้าตัวเขาสามารถทำด้วยตัวเองได้ สิ่งที่ขอให้ทำนั้นสามารถยืดเวลาระยะเวลาในการทำมันออกไปได้ หรือเมื่อเปรียบเทียบ ชั่งน้ำหนักดูแล้วเห็นว่าสิ่งนั้นไม่สำคัญเท่ากับกิจกรรมที่จำเป็นของเรา แทนที่จะให้การช่วยเหลือ และตอบรับทุกๆคำร้องขอ

ณัฐนันท์ ชำนาญผา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น